Mindfulness แปลง่ายๆ ว่า “สติ” และ “สติ” แปลให้ง่ายเข้าไปอีกคือ “การรู้ตัว”
6 ตุลาคม 2563 โดยคุณกัญณัฏฐ์ หลานสะอาด
“การรู้ตัว” ในที่นี้คือ การอยู่กับสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ตรงหน้าอย่าง “เต็มที่ 100%” รับรู้ว่าอะไรกำลังเกิดขึ้นทั้งภายนอกในสภาวะแวดล้อมและทั้งภายในใจของเราเอง เป้าหมายของ “การรู้ตัว” คือ การรู้เท่าทันอารมณ์ของตนเอง เพื่อจะได้ปกป้องรักษาใจไม่ให้ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของอารมณ์ต่างๆ หรือที่เรียกว่า “ใจที่เป็นกลาง”
“ใจที่เป็นกลาง” หรือใจที่ไม่อยู่ภายใต้อิทธิพลของอารมณ์ใดๆ นี้ ในทางจิตวิทยาเรียกว่า “อุเบกขา” ซึ่งเป็นหนึ่งในปรัชญาการบริหารของบีกริม “อุเบกขา” ในที่นี้ไม่ได้แปลว่า “การวางเฉย” แบบที่ชอบแปลกัน เพราะ “ใจที่เป็นกลาง” หรือ “อุเบกขา” ในทางจิตวิทยาเป็นใจที่ไม่ “เฉย” แต่เป็นใจที่ว่องไวในการรู้เท่าทัน และปล่อยวางอารมณ์ต่างๆ ไม่ให้มามีอิทธิพลเหนือใจ
“ใจที่เป็นกลาง” เป็นสิ่งสำคัญที่คนอยากมีชีวิตที่มีความสุขต้องมี เพราะใจที่เป็นกลางไม่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของอารมณ์ จึงไม่เป็นเหยื่อของความทุกข์และไม่สะสมความเครียด
“ใจที่เป็นกลาง” ยิ่งสำคัญสำหรับคนที่อยากประสบความสำเร็จ เพราะใจที่เป็นกลางเป็นรากฐานของการตัดสินใจที่มีคุณภาพ มีเหตุมีผล ไม่ใช่การตัดสินใจตามอารมณ์ เคยไหมที่ปัญหาเดียวกัน เรื่องเดียวกัน แต่เราเมื่ออยู่ในสภาวะอารมณ์ที่แตกต่างกันเรากลับตัดสินใจแตกต่างกัน และหลายๆ การตัดสินใจในนั้นทำให้เราต้องมานั่งเสียใจภายหลัง
“การรู้ตัว” เพื่อประคองใจให้เป็นกลางอยู่เสมอเป็นสิ่งที่ต้องฝึกฝนให้เกิดขึ้น เพราะโดยธรรมชาติสัตว์โลกทุกชนิดรวมถึงมนุษย์ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้ “ไม่รู้ตัว” มนุษย์แต่โบราณจำเป็นต้องเอาใจไปจดจ่ออยู่กับสิ่งแวดล้อมภายนอกเพื่อความอยู่รอด เพราะในยุคนั้นการดำรงชีวิตยังแวดล้อมไปด้วยอันตรายจากภัยและศัตรูตามธรรมชาติ
มาเรียนรู้เกี่ยวกับการฝึก “การรู้ตัว” หรือ Mindfulness ตามแนวจิตวิทยาเพื่อชีวิตที่มีความสุขและความสำเร็จในครั้งต่อไปนะคะ
#Mindfulness #การรู้ตัว #อุเบกขา #ใจที่เป็นกลาง#Happiness#Wellbeing