ท่ามกลางกระแสโลกาภิวัฒน์ การพัฒนาทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยี ทำให้มนุษย์มุ่งไปสู่การเสาะแสวงหาความสุขทางวัตถุมากขึ้น แต่ในเมื่อทรัพยากรนั้นมีอยู่อย่างจำกัด กับประชากรโลก กว่า7 พันล้านคน คงไม่สามารถเติมเต็มความต้องการของทุกคนให้ถึงจุดที่สุขสูงสุดได้ ไม่นับความต้องการที่ไม่สิ้นสุด ประหนึ่งคนที่ไม่เคยพอใจกับปัจจุบัน เมื่อมีก็อยากมีมากกว่า เมื่อได้ใหม่มาก็ยังอยากได้ที่ใหม่กว่าอีก
ความเจริญทางเศรษฐกิจจะอาจจะวัดด้วยดัชนีผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (Gross Domestic Product: GDP) นั่นทำให้ทุกคนต้องแก่งแย่งแข่งขัน เพื่อให้ได้เป็นผู้ชนะ หรือได้ยืนอยู่ในจุดที่ได้เปรียบในระบอบทุนนิยม แต่ในที่นี้ เราไม่ได้จะมาตำหนิ หรือชี้นำให้หันหลังแก่ระบบของโลก หากแต่ยังมีอีกความสุขหนึ่งที่เป็นความสุขทางจิตใจ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับราคา เป็นความสุขที่เรียกว่า “สุขอย่างพอเพียง”
ในปี พ.ศ. 2515 สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี ซิงเย วังชุก กษัตริย์ลำดับที่ 4 แห่งราชวงศ์วังชุก ผู้ปกครองประเทศภูฎาน ทรงประดิษฐ์วลีที่แสดงความมุ่งมั่นในการสร้างเศรษฐกิจบนวัฒนธรรมที่มีพื้นฐานของคุณค่าจิตวิญญาณทางพุทธ แทนที่ค่านิยมการพัฒนาแบบตะวันตก เรียกสิ่งนั้นว่า “ดัชนีความสุขมวลรวมประชาชาติ” (Gross National Happiness: GNH) ซึ่งปัจจุบันนี้แนวความคิดนี้ก็ได้แพร่หลายออกไปทั่วโลก
แนวคิดจีเอ็นเอช ได้กลายเป็นแรงบันดาลใจในการเคลื่อนไหวด้านความสุขสมัยใหม่ผ่านผลงานของนักการศึกษา นักการเมือง และนักเศรษฐศาสตร์ทั้งในโลกตะวันตก และตะวันออกมากมาย จนในเดือน ก.ค. 2554 สหประชาชาติ หรือยูเอ็น ได้ผ่านมติที่ 65/309 โดยที่ประชุมสมัชชาทั่วไปให้ “ความสุข” เป็นหัวข้อหนึ่งของการพัฒนาโลก โดยปรัชญาของจีเอ็นเอช ประกอบด้วย 4 เสาหลักได้แก่ การพัฒนาอย่างยั่งยืน การสงวนรักษา และส่งเสริมซึ่งคุณค่าทางวัฒนธรรม การอนุรักษ์ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม และการมีธรรมภิบาล
ที่จริงแล้วแนวคิดจีเอ็นเอช ไม่ใช่เรื่องใหม่เลยสำหรับสังคมไทย เพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ ทรงพระราชทานแนวคิด “เศรษฐกิจพอเพียง” ให้เป็นปรัชญาในการดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทยมาเป็นเวลานานแล้ว
โดย สมเด็จพระราชาธิบดี จิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก กษัตริย์ภูฏาน รัชกาลที่ 5 รัชกาลปัจจุบัน เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งมกุฎราชกุมารแห่งภูฏาน ได้เสด็จมาร่วมพิธีเฉลิมฉลองครองสิริราชสมบัติครบ 60 พรรษของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ และได้พระราชทานสัมภาษณ์ชื่นชมพระราชดำริ แนวทางที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ใช้ในการพัฒนาประเทศ ซึ่งทรงตรัสว่า จะยึดถือแนวทางนี้เป็นแบบอย่างในการเจริญรอยตาม เช่นเดียวกับแนวทางของพระราชบิดาในการพัฒนาราชอาณาจักรภูฏาน
ทั้งนี้ ประเทศภูฏานได้ก้าวไปสู่ขั้นตอนที่สำคัญตั้งแต่ต้นปี 2543 ในการที่จะกำหนด อธิบายและวัดความสุขมวลรวมประชาชาติ เพื่อที่จะแปลงปรัชญานี้ไปสู่การปฏิบัติจริง และพัฒนาแนวทางที่ชัดเจน ที่สามารถนำไปใช้ได้ในระดับประเทศ ภาคธุรกิจ ชุมชนและระดับบุคคล ซึ่งในปี 2556 ได้มีการก่อตั้ง ศูนย์ความสุขมวลรวมประชาชาติภูฏาน ขึ้น
ดร.ฮาวิน โต ผู้อำนวยการศูนย์ความสุขมวลรวมประชาชาติ ประเทศภูฏาน กล่าวว่า ศูนย์ดังกล่าวมีขึ้นเพื่อทำนุบำรุง และสืบทอดราชสมบัติรุ่นที่ 4ใน สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี ซิงเย วังชุก กษัตริย์รัชกาลที่ 4ซึ่งทรงเป็นผู้ก่อตั้งจีเอ็นเอช โดยทรงเชื่อว่าความรับผิดชอบหลักของรัฐบาลคือ การสร้างสภาวะเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีและความสุขของประชาชนในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างไม่หยุดนิ่ง จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับองค์กรและประเทศที่จะเข้าใจว่า การพัฒนาที่แท้จริงต้องครอบคลุมทุกด้าน และการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างไม่มีขอบเขตนั้นเป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ และในรัชกาลของ พระราชาธิบดี จิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก กษัตริย์องค์ปัจจุบันก็ทรงเปรียบจีเอ็นเอชเหมือน “การพัฒนากับคุณค่า” และการปฏิบัติตามแนวทางจีเอ็นเอชเป็นมโนธรรมแห่งชาติ ในการตัดสินใจอย่างชาญฉลาดเพื่ออนาคตที่ดีกว่า
ดร.ฮาวิน โต กล่าวต่อว่า นอกเหนือจากค่านิยม 4 ด้านที่ศูนย์ฯ ในห้การสนับสนุนแล้ว ยังมีการถ่ายทอดความรู้เพื่อการเปลี่ยนผ่านการพัฒนาไปในทิศทางที่ดีกว่า รวมไปถึงการรับรู้ และการเตรียมความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยมีความพยายามที่จะพัฒนาและให้การสนับสนุนวิธีการที่ยั่งยืนและเป็นองค์รวมในการพัฒนาสังคม เพื่อให้บรรลุความเท่าเทียมระหว่างวัตถุและคุณค่าที่ไม่ใช่ทางวัตถุ และยิ่งไปกว่านั้นคือการจัดลำดับความสำคัญของความสุขและความเป็นอยู่ที่ดีของทุกชีวิตบนโลก
ล่าสุด ได้มีการจัดตั้ง “ศูนย์ความสุขมวลรวมประชาชาติ ประเทศไทย” (Gross National Happiness Centre Thailand) โดยบี. กริม ขึ้น ซึ่งนับเป็นศูนย์ความสุขมวลรวมประชาชาติระหว่างประเทศแห่งแรกของโลก ที่ตั้งอยู่นอกประเทศภูฏาน เพื่อเป็นศูนย์จัดโปรแกรมและหลักสูตรการอบรม ด้วยแนวคิดการส่งเสริมคุณค่าและหลักการของ “ความสุขมวลรวมประชาชาติ” (GNH) สำหรับภาคธุรกิจและภาคอาชีวศึกษาในประเทศไทย
ทั้งนี้ มร.ฮาราลด์ ลิงค์ ประธาน บี.กริม และประธาน บี.กริม เพาเวอร์ กล่าวว่า ยังกล่าวว่าที่มาของการริเริ่มก่อตั้ง “ศูนย์ความสุขมวลรวมประชาชาติประเทศไทย” เนื่องด้วยเล็งเห็นว่าจีเอ็นเอสนำเสนอพื้นฐานปรัชญาที่คล้ายคลึงกับหลักเศรษฐกิจพอเพียงในประเทศไทย ตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชในพระบรมโกศ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2513 โดยทั้งสองแนวคิดตั้งอยู่บนพื้นฐานของความพอประมาณ และให้ความสำคัญกับทางสายกลาง เพื่อทำให้เกิดความสมดุลและตอบสนองความต้องการของความเป็นมนุษย์ภายใต้ข้อจำกัดของผลผลิตจากธรรมชาติบนพื้นฐานที่ยั่งยืน
เนื่องจากการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่ไม่หยุดนิ่ง และจุดยืนทางการค้าระหว่างประเทศ ประเทศไทยและประชากรของประเทศต่างได้รับผลกระทบจากแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของโลก เช่น การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ การสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิต การใช้และการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ การอพยพย้ายถิ่นจากชนบทสู่เมือง และการขยายตัวของลัทธิบริโภคนิยม ท่ามกลางความไม่เท่าเทียมกันทางสังคมและเศรษฐกิจอันส่งผลในวงกว้าง ซึ่งจีเอ็นเอสระบุอย่างตรงไปตรงมาถึงปัญหาเหล่านั้น โดยการชี้ให้เห็นถึงคุณภาพชีวิตและการให้ความช่วยเหลือที่ไม่ได้มีรากฐานมาจากวัตถุ เป็นสิ่งที่ตอกย้ำว่าความก้าวหน้าทางวัตถุไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุดและไม่แม้แต่จะนำไปสู่การมีชีวิตที่ดีของคนและชุมชน
ในโอกาสนี้ เจ้าหญิง อาชิ เคเซง โชเดน วังชุก ประธานศูนย์มวลรวมความสุขประชาชาติ ประเทศภูฏาน ได้ทรงเข้าร่วมในพิธีลงนามสัญญาความร่วมมือก่อตั้งศูนย์ และได้ทรงมีพระดำรัสว่า การที่ค่านิยมจีเอ็นเอสถูกเผยแพร่ไปนอกประเทศภูฏานเป็นสิ่งที่สำคัญมาก และศูนย์ความสุขมวลรวมประชาชาติภูฏานก็มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะก่อตั้งศูนย์ความสุขมวลรวมฯ ระหว่างประเทศ ในประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศที่พระองค์รู้สึกใกล้ชิดอย่างมาก รวมทั้งประชาชนภูฏาณเองก็มีความใกล้ชิดทางจิตใจกับประเทศไทยเช่นกัน